รศ.ดร.ไกร โพธิ์งาม
ข้าราชการบำนาญ สังกัด ม.รามคำแหง
grai_phongam@hotmail.com
การแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทำได้หลายวิธี เช่น การใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว ได้แก่ การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล ลดภาษี หรือการใช้นโยบายการเงินแบบขยายตัว เช่น การเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ real GDP เพิ่มขึ้น สำหรับการอัดฉีดเงิน 3.16 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล เป็นวิธีหนึ่งของการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ นอกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งยกระดับเป็นสงครามค่าเงิน คู่ขัดแย้งอีกคู่หนึ่ง คือ ญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้ และยังมีเหตุการณ์ประท้วงยืดเยื้อในฮ่องกง สำหรับประเทศไทยเองก็มีปัญหาภัยแล้งที่แผ่กว้างไปทั่วประเทศ ทำให้นาข้าว อาทิเช่น นาข้าวในพื้นที่ภาคอีสาน แห้งตายเป็นจำนวนมาก ชาวนาไม่มีข้าวแม้แต่จะเก็บเอาไว้กินเอง เกษตรกรอื่น ๆ ก็ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกัน อยู่ในสภาพหมดตัวไปตาม ๆ กัน นอกจากปัญหาภัยแล้วก็ยังมีปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง
แนวโน้มไตรมาส 2 – 3 ของปี 2562 หนี้ครัวเรือนไทยอาจจะเพิ่มเป็น 80% ของ GDP เนื่องจากการก่อหนี้ต่าง ๆ ยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตสูงขึ้นมาก ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่น่าเป็นห่วง มี 3 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มวัยเริ่มต้นทำงาน ช่วงอายุ 25 – 30 ปี 50% ของกลุ่มนี้ มีหนี้คงค้างเฉลี่ยอยู่ที่ 423,000 บาทต่อหัว
2) กลุ่มคนเกษียณอายุแล้ว พบว่า 20% ของกลุ่มนี้ มีหนี้คงค้างเฉลี่ย 400,000 บาทต่อหัว
3) กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อของระบบสถาบันการเงิน จึงต้องไปกู้หนี้นอกระบบ
นอกจากนี้ประเทศไทยมีปัญหาอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากภาคธุรกิจตัดสินใจลดต้นทุน ด้วยการเลิกจ้างพนักงาน รวมถึงลดชั่วโมงการทำงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม และเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ภาคธุรกิจอุตสาหกรมในยุคใหม่ หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม การหันมาใช้ระบบอัตโนมัติ และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค และผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป การนำเครื่องมือทาง digital มาใช้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน
ธนาคารไทยพาณิชย์ลดประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2019 เหลือ 3.1% การส่งออกจะติดลบ การชะลอตัวของการท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนลดลง ทำให้ GDP ขยายตัวเพียง 2.7%
สภาวะเศรษฐกิจไทยโตช้ากว่ากลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้เกิดปัญหา รวยกระจุก จนกระจาย ภาคการท่องเที่ยวของไทยถือว่าเป็นภาคบริการที่สำคัญที่สุด สร้างรายได้มากกว่า 10% ของ GDP ขณะนี้นักท่องเที่ยวจีนลดลง เนื่องจากค่าเงินบาทแข็ง
ความจำเป็นของการอัดฉีดเงิน 3.16 แสน
ถ้ารัฐบาลไม่ออกมาตรการอะไรเลย เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวเพียง 2.7% มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้เงิน 3.16 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ ช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตร และการส่งออก ประกอบกับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชน มาตรการดังกล่าวมานี้ จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4 – 0.5% รัฐบาลจึงมั่นใจว่า ปี 2562 นี้ เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวถึง 3%
ทางด้านพรรคฝ่ายค้านวิเคราะห์ว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เนื่องจากการส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจะยิ่งทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ประชาชนต้องการที่จะลดภาระหนี้สินมากกว่าการไปเที่ยว รัฐบาลควรจะนำเงินไปพัฒนาสภาพของสถานที่ท่องเที่ยว การเดินทางให้สะดวก ปลอดภัย พัฒนาเทคโนโลยี และ application ใหม่ ๆ และพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวจะได้ประโยชน์มากกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการให้ประชาชนใช้จ่ายเงิน สุดท้ายแล้ว เงินจะตกไปอยู่กับเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนเพิ่มมากขึ้น
โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว แต่ GDP ของไทยปี 2562 คงขยายตัวได้ไม่ถึง 3% เนื่องจากแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ และค่าเงินบาทแข็งค่ามากี่สุดในภูมิภาค และจะแข็งค่ามากขึ้นอีก ถ้าธนาคารกลางสหรัฐ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของการส่งออกของไทย ซึ่งในช่วงนี้อยู่ในระดับติดลบ และจะกระทบต่อการท่องเที่ยว และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของไทย สำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศของไทย ถูกผลกระทบจากภัยแล้วและเหตุการณ์ น้ำท่วมในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นการยากที่จะทำให้ real GDP ขยายตัวถึง 3% ในปี 2562 นี้