ในการทำธุรกิจเราจะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ กระบวนการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ เริ่มจากข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์มีขอบเขตแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ข้อมูลระดับมหภาค ข้อมูลระดับอุตสาหกรรม และข้อมูลระดับวิสาหกิจ ซึ่งการวิเคราะห์จากภาพใหญ่ที่สุดจนไปถึงตัวกิจการนี้เรียกว่า การวิเคราะห์จากบนลงล่าง (Top Down Analysis)
ข้อมูลระดับมหภาค เป็นข้อมูล ที่สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ หรือในบางกรณี หากเราต้องการวิเคราะห์ธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ เราอาจจะต้องนำสภาวะเศรษฐกิจระหว่างประเทศเข้ามาพิจารณาด้วย ข้อมูลในระดับนี้ อาจจะมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น เศรษฐกิจ การเมือง ประชากร วัฒนธรรม รูปแบบการดำเนินชีวิตของประชากร รวมทั้งกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ เป็นต้น
ข้อมูลระดับอุตสาหกรรม หากกิจการที่เราจะวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอยู่ในอุตสาหกรรมใด เราจะต้องนำภาพรวมของอุตสาหกรรมนั้นมาพิจารณาด้วย ซึ่งอาจจะมีองค์ประกอบหรือประเด็นที่ต้องศึกษา เช่น วัฏจักรของอุตสาหกรรมนั้น โครงสร้างตลาดและการแข่งขัน โครงสร้างของซัพพลายเชน กฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ ที่สำคัญในอุตสาหกรรมนั้น
ข้อมูลระดับวิสาหกิจ แบ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ โดยใช้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตัวกิจการ เช่น โมเดลธุรกิจ จุดอ่อน-จุดแข็ง ของธุรกิจ และอีกด้านหนึ่งเป็นการดูศักยภาพของผู้บริหาร โดยอาจจะพิจารณาจากความมุ่งมั่น ความสามารถ ประสบการณ์ คอนเน็คชั่น และความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร ส่วนการวิเคราะห์เชิงปริมาณนั้น ข้อมูลที่สำคัญ หากเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะใช้รายงานทางการเงิน 3 ส่วน คือ งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกําไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ และงบกระแสเงินสด และอาจจะใช้หมายเหตุประกอบงบการเงินด้วย แต่ในระดับ SMEs งบที่สำคัญคืองบแสดงฐานะทางการเงิน งบกําไรขาดทุน หากเป็นกิจการการผลิต ก็จะต้องจัดเตรียมงบต้นทุนการผลิตเพื่อการวิเคราะห์ด้วย
สนใจสอบถามบริการได้นะคะ