การเขียนแผนธุรกิจ ที่ดีถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จของกิจการเลยก็ว่าได้ แผนธุรกิจเป็นเหมือนแผนที่นำทางของกิจการ เปรียบเหมือนอาวุธลับที่แต่ละบริษัทมีเป็นของตัวเอง แผนธุรกิจสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งภายในองค์กรเอง หรือใช้ภายนอกองค์กร ก่อนที่จะมาดูว่า ขั้นตอนการเขียนแผนธุรกิจ ที่ดีเป็นอย่างไร เรามาเข้าใจความสำคัญของการเขียนแผนธุรกิจกันก่อน
การเขียนแผนธุรกิจ มีความสำคัญอย่างไรบ้าง ?
1. เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของธุรกิจ
แผนธุรกิจเป็นเหมือนแผนที่นำทาง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเริ่มต้นธุรกิจ แผนการที่ดีย่อมสามารถนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้
2. จัดหาแหล่งเงินทุน
การจัดทำแผนธุรกิจ ถือเป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งในการดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อธุรกิจ ผู้ให้บริการแหล่งเงินทุนมักพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อธุรกิจ จากแผนธุรกิจของผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน
3. อาวุธสำหรับการแข่งขัน
แผนธุรกิจที่ดี และแข็งแกร่ง ถือเป็นจุดแข็งของกิจการในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และพัฒนากิจการให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
ถัดมาสำหรับขั้นตอน การเขียนแผนธุรกิจ SME เพื่อทำเรื่องขอ บอกเลยว่าไม่ได้มีความยุ่งยากซับซ้อนสักไหร่นัก การเขียนแผนธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อมีขั้นตอนการเขียนง่าย ๆ ไปดูกันเลยดีกว่าว่า 7 ขั้นตอน เขียนแผนธุรกิจให้ ปังปุริเย่ จนนักลงทุนหลง มีอะไรบ้าง
1. บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary)
เป็นส่วนที่แนะนำ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างและภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจหรือโครงการ เป็นเหมือนบทเกริ่นนำ ที่มีความสำคัญเพราะควรเป็นส่วนที่ชักจูงและดึงดูดให้ นักลงทุน หรือผู้ให้บริการแหล่งเงินทุนสนใจในธุรกิจ มักมีความยาวประมาณ 1-2 หน้ากระดาษ ประกอบด้วยข้อมูลสรุปเกี่ยวกับ
– ภาพรวมของธุรกิจ
– โอกาสในการดำเนินธุรกิจและการแข่งขัน
– ข้อมูลสินค้าและบริการ
– เป้าหมาย
– กลยุทธ์
– แผนการลงทุน
– ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ
2. ความเป็นมาของธุรกิจ (Business Background)
เป็นส่วนที่อธิบายลักษณะของธุรกิจในปัจจุบัน และที่กำลังจะเป็นไปในอนาคต มักมีความยาวประมาณ 2-3 หน้ากระดาษ มีรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกิจการ โครงสร้างหุ้นส่วนและเจ้าของ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ที่อยู่บริษัท วิสัยทัศน์ และเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการวิเคราะห์ ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของกิจการ ที่ควรสะท้อนถึงความเป็นจริง สามารถวัดผลได้ มีความท้าทาย และเป็นไปได้จริงต่อองค์กร
3. การวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาส (Brand Analysis)
หรือที่เพื่อนๆ รู้จักกันดีเกี่ยวกับการวิเคราะห์ธุรกิจวิธี SWOT Analysis โดยเป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายในและภายนอกต่างๆ ที่มีผลดีและอาจเป็นความเสี่ยงต่อบริษัท ได้แก่ ปัจจัยทางเศรษฐกิจ กฎระเบียบ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
4. แผนการตลาด (Marketing Plan)
เป็นการเขียนแผนธุรกิจที่อธิบายเกี่ยวกับกลยุทธ์การเข้าถึงตลาดที่กิจการได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการวิเคราะห์ส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix) ตลอดจนกลยุทธ์ในการเข้าถึงและการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงเป้าหมายทางการตลาด เพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจให้กับนักลงทุน หรือผู้ให้บริการ
5. แผนการดําเนินงาน (Operation Plan)
การกำหนดแผนการดำเนินงานของกิจการควรมีความละเอียด เป็นไปได้ และสะท้อนถึงหลักความเป็นจริง ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญได้แก่
– แผนการผลิต
– แผนการควบคุมคุณภาพ
– แผนการบริหารบุคลากร
– แผนการควบคุมวัตถุดิบ และการจัดส่งสินค้าสำเร็จรูป (Supply-Chain Management)
– แผนการควบคุมคลังสินค้า
– แผนการบริการลูกค้า
6. แผนการเงิน (Financial Plan)
แผนการเงินถือเป็นส่วนที่แสดงข้อมูลเชิงปริมาณที่ผู้ให้บริการแหล่งเงินทุน และนักลงทุนใช้เป็นหัวข้อสำคัญในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ
แผนการเงินที่ดีจะดึงดูดนักลงทุน และผู้ให้บริการแหล่งเงินทุน การเขียนแผนธุรกิจ ควรมีแผนการบริหารเงินให้กิจการสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ไม่มีสะดุด โดยต้องสะท้อนความเป็นจริงทั้งเป้าหมาย และตัวเลขทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงภายในกิจการ โดยข้อมูลสำคัญที่ควรมีในการเขียนแผนธุรกิจหัวข้อนี้ คือ
– แผนการลงทุน
– การประมาณการรายได้และผลตอบแทนที่จะได้รับ
– ข้อมูลทางการเงินของกิจการ ได้แก่ งบแสดงฐานะทางการเงิน งบกำไรขาดทุนสุทธิ และงบกระแสเงินสด
– การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
– การวิเคราะห์ระยะเวลาคืนทุน
– การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน
7. แผนฉุกเฉิน (Emergency Plan)
ในกรณีที่กิจการตกอยู่ในภาวะฉุกเฉิน หรือเกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตามปกติ เช่น เหตุไฟไหม้ น้ำท่วม ภาวะทางเศรษฐกิจ หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ
กิจการควรมีแผนการรับมือรองรับ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการต่อไปได้ในภาวะที่เกิดปัญหา เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน และผู้ให้บริการแหล่งเงินทุน ถึงความสามารถในการรับมือกับทุกสถานการณ์
และนี่คือ 7 ขั้นตอน เขียนแผนธุรกิจให้ ปังปุริเย่ จนนักลงทุนหลง การเขียนแผนธุรกิจคงไม่ยากอย่างที่คุณคิด อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรตระหนักไว้ว่า แม้จะเขียนแผนธุรกิจออกมาได้สวยงาม หรือมีเป้าหมายใหญ่และดึงดูดผู้ให้บริการแหล่งเงินทุนแค่ไหน หากไม่สอดคล้องและสะท้อนกับความเป็นจริง ก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นแผนธุรกิจที่ดีได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงเวลาเขียนแผนธุรกิจก็คือ ความละเอียด และการเขียนแผนธุรกิจให้สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุดด้วย หากคุณมีปัญหาในการเขียนแผนธุรกิจสามารถปรึกษาเราได้ Survey Market ยินดีให้คำปรึกษา และรับเขียนแผนธุรกิจให้เหมาะกับธุรกิจคุณ