แผนธุรกิจ (Business Plan) คือ แผนการดำเนินงานของธุรกิจหรือโครงการ ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้น (1 3 ปี) และในระยะยาว (3–5 ปี) อันประกอบไปด้วยการวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อธุรกิจทั้งทางด้านมหภาค (Macro Analysis) และจุลภาค (Micro Analysis) การวิเคราะห์ธุรกิจของโครงการในแง่มุมต่างๆ ทั้งทางด้านการตลาด ทางด้านการดำเนินงาน ทีมผู้บริหาร และทางด้านการเงิน เพื่อเป็นการประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ และเป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจ แนวทางการพัฒนาธุรกิจในอนาคต เป็นคู่มือในการดำเนินธุรกิจ โดยนำเสนอการวิเคราะห์รายละเอียดธุรกิจในตัวแปรที่สำคัญเช่น สินค้าหรือบริการที่ขาย กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและอุปสรรคต่างๆ ของธุรกิจ
แผนธุรกิจ (Business Plan) มีความเป็นไปได้ (Feasibility), มีความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness), มีการบริหารการจัดการที่ดี (Good Governance and Quality of Management)
ทำไมต้องมีแผนธุรกิจ การเขียนแผนธุรกิจ เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งและเป็นมาตรฐานในการทำธุรกิจสมัยใหม่ไปแล้วก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการขอกู้เงินหรือการขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อนำเงินมาลงทุน การขอเงินจาก Venture Capital หรือการใช้เงินลงทุนของตนเองก็ดี เนื่องจากจะทำให้เจ้าของกิจการ ผู้ร่วมธุรกิจ หรือธนาคารได้เห็นภาพรวมของโครงการ รวมถึงการประเมินความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆ ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด จะให้ผลคุ้มทุนเมื่อใด มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ ก่อนที่จะเริ่มต้นลงทุนในโครงการนั้นๆ จริง โดยแผนธุรกิจนอกจากจะเป็นการประเมินความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว ยังเป็นแผนงานและแผนควบคุมการดำเนินงานของบริษัทได้อีกทางหนึ่งด้วย
แผนธุรกิจ มีความสำคัญ เพื่อใช้ในการตรวจสอบและวางแผนธุรกิจ (to improve business planning and control), เพื่อให้เข้าใจธุรกิจของตนเองและใช้เป็นคู่มือในการดำเนินธุรกิจ (to understand your business), เพื่อหาเงินขยายธุรกิจ (to raise finance for your business) คุณสมบัติแผนธุรกิจที่ดี ชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย ข้อมูลถูกต้องโดยมีการทำวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล เจ้าของกิจการต้องให้ข้อมูลทางธุรกิจที่เป็นจริง แผนธุรกิจ ควรมี สินค้าหรือบริการที่จะขาย, กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย, จุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการที่จะทำ, นโยบายการตลาด, วิธีการหรือกระบวนการในการผลิต, เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ต้องใช้, ตัวเลขทางการเงิน
สูตรสำเร็จของแผนธุรกิจ (Business Plan) ที่ดี เมื่ออ่านแล้วจะต้องตอบคำถามนี้ได้ การก่อตั้งธุรกิจเป็นรูปร่างชัดเจนขนาดไหน เสร็จสมบูรณ์หรือยัง มีความน่าลงทุนมากน้อยเพียงใด มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มแรกมากน้อยเพียงใด มีความได้เปรียบหรือความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวมากน้อยเพียงใด สินค้าที่จะผลิตมีวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพียงใด สินค้าที่ผลิตสามารถวางตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด วิธีการผลิตและการวางตลาดสินค้านั้นมีทางเลือกอื่นที่ประหยัดได้มากกว่าหรือไม่ หน้าที่ต่างๆเช่นการผลิต การจำหน่าย การจัดการทางการเงิน การจัดการคน มีการจัดการที่ดีและเหมาะสมเพียงใด ธุรกิจที่จะดำเนินมีพนักงานที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอหรือไม่
องค์ประกอบของ แผนธุรกิจ (Business Plan)
1) บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) เพื่อให้ผู้บริหารหรือผู้พิจารณาแผน ได้ทราบภาพรวมทั้งหมดของโครงการ และผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน เป็นส่วนที่รวบรวมประเด็นหลักๆ ของแผนทั้งเล่มเป็นส่วนที่สรุปใจความสำคัญๆของแผนทั้งหมด เป็นส่วนแรกที่ผู้ร่วมลงทุนจะอ่านและจะตัดสินใจว่าจะอ่านรายละเอียดในตัวแผนต่อหรือไม่ เนื้อหา อธิบายว่าจะทำธุรกิจอะไรและแนวคิดของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร, โอกาสและกลยุทธ์, กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย, ความได้เปรียบเชิงแข่งขันของธุรกิจ, ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจและความสามารถเชิงกำไร, ทีมผู้บริหาร, ข้อเสนอผลตอบแทน
2) โครงสร้างอุตสาหกรรมของบริษัท (Industry Analysis) หรือ ประวัติย่อของกิจการบอกถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมของโครงการ วิสัยทัศน์ ภารกิจ และวัตถุประสงค์ของโครงการ เป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของก่อการ เป็นการเสนอแนวความคิดและที่มาของการเล็งเห็นโอกาสทางการตลาด เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคิดค้นและพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ต้องการนำเสนอให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายที่ต้องการให้เป็นในอนาคต
3) การวิเคราะห์ตลาด (Marketing Analysis) เป็นการวิเคราะห์ถึงปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน สภาพการแข่งขันในตลาด การกำหนดตลาดเป้าหมาย การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมผู้บริโภค และการประมาณการยอดขายสินค้าและบริการ เป็นการพยายามทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของปัจจัยสำคัญๆที่ ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การแข่งขันใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานของกิจการ วิเคราะห์สถานการณ์โดยใช้ SWOT Analysis
4) แผนการตลาด (Marketing Plan) การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด ทั้งทางด้านสินค้าและบริการ ราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย การสื่อสารทางการตลาด การบริหารการขาย และการรับประกันสินค้าและบริการ บอกถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ หมายถึง ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่กิจการต้องการได้รับในช่วงระยะเวลาของแผนเช่น เป้าหมายระยะสั้นภายใน 1 ปี เป้าหมายระยะกลาง 3-5 ปี และเป้าหมายระยะยาวที่นานกว่า 5 ปี ลักษณะเป้าหมายของธุรกิจที่ดี มีความเป็นไปได้ สามารถวัดผลได้ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
5) แผนการพัฒนาในอนาคต (Improvement Plan) แผนงานการพัฒนาสินค้าและบริการของบริษัทในอนาคต คือ การกำหนดทิศทางและแนวทางในการทุ่มเทความพยายามทางการตลาด ตลอดจนกลไกในการตรวจสอบและประเมินผลกิจกรรมการตลาดไว้ล่วงหน้า โดยได้รับจากการวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกับการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ
แผนการตลาด เนื้อหาของแผนการตลาดต้องตอบคำถามหลักดังนี้ เป้าหมายทางการตลาดที่ต้องทำให้ได้ในระยะเวลาของแผนคืออะไร, ใครคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย, จะนำเสนอสินค้าหรือบริการอะไร, ในราคาเท่าใด, ด้วยวิธีการอะไร, จะสร้างและรักษาความพึงพอใจได้ด้วยวิธีการอะไร, ถ้าสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้จะปรับตัวหรือแก้ไขอย่างไร
องค์ประกอบที่สำคัญของแผนการตลาด เป้าหมายทางการตลาด, การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย, กลยุทธ์และกิจกรรมทางการตลาด, เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาด, เพื่อการเติบโตทางการตลาด, การควบคุมและประเมินผลทางการตลาด
6) โครงสร้างองค์กร (Organization Plan) แผนผังองค์กร ทีมงานหลักในการบริหาร และหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ แผนการจัดการและแผนคน เป็นการระบุถึงโครงสร้างขององค์กร ซึ่งมีรายละเอียดคือ โครงสร้างขององค์กร, ตำแหน่งบริหารหลัก, ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้บริหาร, ผู้ร่วมลงทุน, คณะกรรมการบริษัท
7) แผนการปฏิบัติงาน (Operation Plan) กลยุทธ์การดำเนินงาน สถานที่ตั้ง แผนการดำเนินงาน แผนการผลิต แผนการผลิตต้องเชื่อมโยงและสอดคล้องกับแผนอื่นๆ เช่น แผนการตลาด แผนการบริหารและจัดการบุคลากรและแผนการเงินในการวางแผนการผลิตต้องพิจารณา คุณภาพ การออกแบบสินค้าและบริการ กระบวนการผลิต การออกแบบระบบงาน การวางแผนกำลังคน การจัดส่งสินค้า ระบบสินค้าคงคลัง กำหนดการผลิตและปฏิบัติการ การดูแลรักษาเครื่องจักร
8) ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ (Business Profit) หรือ แผนการเงิน จะเน้นกล่าวถึงนโยบายทางการเงิน สมมติฐานการเงิน งบกำไรขาดทุน งบดุล งบกระแสเงินสด เงินลงทุนและผลตอบแทน อัตราส่วนทางการเงิน การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของผลการดำเนินงาน การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน แผนการเงิน ต้องทราบว่าการจะดำเนินธุรกิจให้ได้ตามแผนจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนเท่าใด ได้จากแหล่งใด กิจกรรมหาเงิน กิจกรรมลงทุน และกิจกรรมดำเนินงานเป็นปัจจัยต่อความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจนักบัญชีจะเป็นผู้นำเสนอผลของกิจกรรมทั้งสามและสรุปออกมาเป็นงบการเงิน (Financial Statements)
งบการเงิน เป็นรายงานสรุปขั้นสุดท้ายของกระบวนการทำบัญชี ที่แสดงให้เห็นถึงข้อมูลทางการเงินของธุรกิจในรอบระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่าธุรกิจมีฐานะทางการเงินอย่างไร กำไรหรือขาดทุน เงินสดในกิจการเพิ่มขึ้นหรือลดลง และสาเหตุเกิดจากอะไร
งบการเงินประกอบด้วย งบดุล รายงานแสดงถึงฐานะของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง โดยให้ข้อมูลทางการเงินที่แสดงถึงฐานะของกิจการ คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับสินทรัพย์, หนี้สินและส่วนของผู้เป็นเจ้าของ, งบกำไรขาดทุน, งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ, งบกระแสเงินสด, นโยบายบัญชี
9) แผนการดำเนินงาน (Gantt Chart) แผนภาพระยะเวลาของการดำเนินงานในช่วงเวลาต่างๆ (Time Frame) และแผนการควบคุม (Controlling Plan) แผนควบคุมการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ มีการจัดทำรายละเอียดของกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การตลาด การเงิน โดยนำมาทำแผนการดำเนินงานที่มีรายละเอียดของเป้าหมาย กลยุทธ์ วิธีการ งบประมาณ และระยะเวลาดำเนินการ โดยจัดทำรายละเอียดตามที่ผู้ประกอบการเห็นสมควร
10) แผนฉุกเฉิน (Emergency Plan) แผนสำรองหากการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ หรือแผนการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เป็นการเตรียมแนวทางการดำเนินงานไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่สถานการณ์หรือผลลัพธ์จากดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นจนเป็นผลกระทบในทางลบกับกิจการ
บทสรุป
ประโยชน์ของแผนธุรกิจ การวางแผนธุรกิจ เป็นการวิเคราะห์ที่ทำให้รู้ จุดอ่อน จุดแข็งในธุรกิจ รวมทั้งรู้และเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจ รวมทั้งหาโอกาสพัฒนาธุรกิจได้ในอนาคต ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจผิดพลาดทางธุรกิจอีกด้วย ดังนั้นแผนธุรกิจ จึงเป็นการวิเคราะห์และวางแผนเกี่ยวกับธุรกิจอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อช่วยให้รู้และเข้าใจธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคและช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ และทำให้ประสบความสำเร็จได้
ที่มาภาพและรวบรวมโดย www.iok2u.com
Sources : https://www.iok2u.com/index.php/article/e-book/118-plan-business-plan