พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบการสื่อและบันเทิงต้องมีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต วันนี้ SurveyMarket ขอแชร์ 6 แนวทางในการรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ดังต่อไปนี้
1. ความสะดวกสบายและเข้าถึงง่าย ทุกวันนี้ผู้บริโภคต้องการช่องทางที่สะดวก และสามารถเข้าถึงจากที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ นี่เป็นหนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้การใช้งานบริการวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT Video) วิดีโอเกมและสตรีมมิ่ง ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ ยกตัวอย่าง บริษัทขายอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายที่ให้บริการโปรแกรมการออกกำลังกายให้กับลูกค้าผู้ใช้เครื่องออกกำลังกายได้ผ่านคลาสปั่นจักรยาน หรือโยคะที่สมาชิกผู้ใช้สามารถร่วมออกกำลังได้จากที่บ้านเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ หรือสถาบันการศึกษาที่เมื่อผู้เรียนไม่สามารถเข้าเรียนได้ ก็หันมาเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แทน
2. นำเสนอเนื้อหาแปลกใหม่ ความคาดหวังของผู้บริโภคจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยจะไม่ได้ต้องการเพียงแค่เนื้อหาทั่วไปที่ได้จากการเสพสื่อและบันเทิงเท่านั้น แต่ยังต้องการประสบการณ์เฉพาะที่มาพร้อมกับเนื้อหาด้วย เช่น การอ่านหนังสือบนแท็ปเล็ต นอกจากจะต้องการอ่านเนื้อหาแล้ว หลายคนยังต้องการที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น ๆ ผ่านทางชมรมหนังสือออนไลน์ที่สามารถโต้ตอบได้ ฉะนั้น ผู้ประกอบการสื่อและบันเทิงต้องตอบโจทย์ความต้องการแฝงของผู้บริโภคเหล่านี้ด้วยการนำเสนอรูปแบบเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับบริการใหม่ ๆ เสมอ
3. ตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคล ในยุคที่ใคร ๆ ก็ต้องการบริการเฉพาะ ธุรกิจสามารถนำเสนอบริการที่ตรงใจผู้บริโภคได้ 2 มิติ คือ ผ่านเครื่องมือและผ่านคน โดยใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อค้นหาสิ่งที่ผู้ใช้งานแต่ละคนชื่นชอบก่อนนำมาประมวลผลและพัฒนาระบบให้คำแนะนำกลับไปที่ลูกค้า ในขณะเดียวกันที่ต้องพิจารณาการใช้อินฟลูเอนเซอร์หรือผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล ซึ่งการมีคนกลุ่มนี้มาแนะนำสินค้าและบริการ ก็จะทำให้ผู้ติดตามให้ความสนใจและกลายเป็นสินค้าและบริการขายดี ได้ ฉะนั้น ธุรกิจต้องเลือกใช้อิทธิพลจากคนร่วมกับการใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม
4. เชื่อมต่อโดยตรงกับผู้บริโภค การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การใช้จ่ายด้านการโฆษณาลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยธุรกิจสื่อและบันเทิงที่หันไปเน้นการสร้างรายได้ผ่านรูปแบบการสมัครสมาชิกและพิจารณารูปแบบการปรับราคาใหม่จะสามารถเติบโตได้ในภาวะแบบนี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น บทความยังชี้ว่า ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคมักยินดีที่จะจ่าย หากสินค้าและบริการมีคุณค่ากับตน นอกจากนี้ ยังพบว่ารูปแบบธุรกิจบริการสื่อและบันเทิงแบบบุฟเฟต์นั้นได้รับความนิยมสูงขึ้นด้วย
5. สร้างความเชื่อมั่น เมื่อผู้บริโภคใช้เวลากับสื่อต่าง ๆ มากขึ้นในช่วงเวลาที่อยู่บ้าน พวกเขาย่อมต้องการสื่อและช่องทางในการเสพสื่อที่เชื่อถือได้ โดยสื่อที่ให้ความสำคัญกับการกลั่นกรองข้อมูล ให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ และกำจัดข้อมูลที่บิดเบือน จะได้รับความนิยมและการสนับสนุนมากที่สุด
6. จับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เช่น สื่อโทรทัศน์ควรจับมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือธุรกิจเกมที่สามารถปรับแพลตฟอร์มเป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้า หรือ คอนเสิร์ตออนไลน์ในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคยังคงต้องเว้นระยะห่างทางสังคม
สุดท้ายนี้สิ่งที่ผู้นำธุรกิจต้องมีในเวลานี้คือ Sense of urgency และจัดลำดับความสำคัญว่า จะต้องทำอะไรก่อนหรือหลังเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนในระยะยาว พร้อมทั้งอย่าลืมว่า การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้นต้องพร้อมที่จะแสวงหาและทดลองวิธีใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต
Source: https://www.pwc.com/th/en/pwc-thailand-blogs/blog-20210128.html